กว่าจะมาเป็นผึ้งน้อยเบเกอรี่ต้นแบบองค์กรแห่งความสุข
เมื่อย้อนไป 50 กว่าปี คุณผ่องพรรณ ปาละพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ในปัจจุบัน เดิมบ้านเกิดอยู่จังหวัดลำพูน เคยประกอบธุรกิจต่างๆมาแล้วมากมาย โดยคลุกคลีกับการค้าขายมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งขายพืชผัก กับข้าวพื้นเมือง ขนม น้ำมัน เกลือ น้ำตาล ทำขนมครก ทองหยิบ ทองหยอด ขนมไทย กะปิ หรือแม้กระทั่งเสริมสวยและตัดเย็บผ้า เป็นต้น
ทั้งหมดนี้อาศัยต้นทุนจากความอดทน ความขยันหมั่นเพียรและผ่านการทดสอบชีวิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จากธุรกิจที่ต้องล้มลุกคลานอย่างโชกโชน แม้ว่าจบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยต้องออกจากโรงเรียนไม่ได้เรียนต่อเพราะต้องการเสียสละให้น้องๆอีกสี่คนได้เรียนหนังสือ และเนื่องจากสามีเป็นข้าราชการด้านการศึกษา จึงจำเป็นต้องย้ายตามสามีตลอดเวลา และเมื่อไปที่จังหวัดใด คุณผ่องพรรณจะทำธุรกิจหลากหลายเท่าที่จะหาเงินมาช่วยเหลือสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทุกอาชีพต้องเป็นอาชีพที่สุจริต
ต่อมาประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ขณะที่ธุรกิจทั่วไปต้องล้มละลาย แต่ธุรกิจเบเกอรี่ของคุณผ่องพรรณได้ยึดวิกฤติเป็นโอกาส ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถกู้เงินมาดำเนินธุรกิจได้แต่คุณผ่องพรรณกู้ได้ และยังให้โอกาสแก่ผู้ที่ไม่มีงานทำแต่มีความชำนาญและมีฝีมืออาชีพต่างๆ รับเข้ามาช่วยงานของบริษัทผลิตเบเกอรี่จนกระทั่งปัจจุบัน ที่ทำทั้งการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่สำเร็จรูป เช่น เค้ก ขนมปัง คุกกี้ พาย เดนิช ทาร์ต โรล พิซซ่า ขนมอบนานาชนิดและขนมไทยทุกชนิด ฯลฯ โดยเป็นผู้ผลิตเอง ขายเอง 90% และรับจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ในเครือข่ายของผึ้งน้อยอีกประมาณ 10% หรือกว่าประมาณ 200 ราย ซึ่งเครือข่ายที่นำขนมมาให้ผึ้งน้อยจำหน่ายนั้น บางส่วนเป็นร้านที่รู้จักกับคุณผ่องพรรณ มาตั้งแต่ที่ยังไม่มีหน้าร้าน บางส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้าน และบางส่วนก็ใช้แบรนด์ของตนเองมาสมทบให้ทางผึ้งน้อยช่วยจำหน่าย ที่จุดขายส่งสำนักงานบริษัทผึ้งน้อย จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันมีคุณพ่อรัตน์ ปาละพงศ์ เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท คุณแม่ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ เป็นกรรมการบริหารบริษัท และมีคุณรัตนา ปาละพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ
นโยบายสำคัญสำหรับการบริหารและการคุณภาพชีวิตของพนักงาน ในมิติด้านคุณธรรมและธรรมาภิบาล
“ผึ้งน้อยเบเกอรี่” มีคติพจน์ ที่ว่า “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน กตัญญู รู้คุณธรรม” และมีคำขวัญประจำบริษัทที่ได้ถ่ายทอดกันมาเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่ว่า “ขยันทำกิน ไม่บินสูงนัก รักความสะอาด ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี” จนคนทำงานรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นคำสอนของแม่ผึ้ง ที่ว่า อดทนทำตนให้เป็นคนดี อดทนถึงที่ได้ดีทุกคน
อีก 1 ความดี คือ การ“รักษาน้ำใจของพนักงาน” เป็นหัวใจหลักของการเป็นผู้บริหารที่ดี และจะต้องมีศิลปะครองใจคน และที่สำคัญ คุณผ่องพรรณไม่เคยปลดหรือไล่พนักงานออก จนกระทั่งขณะนี้พนักงานของบริษัทมีมากกว่าเจ็ดร้อยคน จากบทสัมภาษณ์คุณรัตนา ปาละพงศ์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่น 2 ได้เล่าว่า “คุณแม่เคยเป็นผู้ควบคุมลูกเสือชาวบ้าน ท่านก็จะใช้แนวทางของลูกเสือชาวบ้านมาใช้ในการปลูกฝังวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันและการทำงาน เช่นเพลงประจำบริษัท ก็จะเป็นเพลงลูกเสือชาวบ้านที่สื่อถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันที่ทุกคนจะต้องรู้จักหน้าที่ และมีความตรงต่อเวลา นั่นคือ“ในหมู่ผึ้งน้อยที่มาร่วมอยู่ ต่างคนต่างรู้หน้าที่กันดีทุกอย่าง” เมื่อมีการประชุมพนักงานกัน ทุกคนก็จะร้องเพลง “ตรงต่อเวลา พวกเราต้องมาให้ตรงเวลา” ท่านยังเป็นแบบอย่างของความเรียบง่าย โดยท่านจะทักทายทุกคน และทุกคนก็สามารถเข้าถึงท่านได้ โดยสรรพนามที่พนักงานใช้ทักทายท่านก็เหมือนพูดคุยทั่วๆไป ว่า “คุณป้า”
“อ้างอิง จากบทความของคุณพิมพร ศิริวรรณ นักเขียนผู้สนใจการสร้าง “องค์กรแห่งความสุข” (Happy Workplace) ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641934”
ปรัชญาสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคุณผ่องพรรณคือ “การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งจะมีคำพูดประจำใจว่า “ยิ่งหวงยิ่งหาย ยิ่งให้ยิ่งได้” ดั่งจะเห็นได้จาก เธอนำขนมอบหลากหลายชนิดมาร่วมแจกให้แก่แขกในวันประสาทปริญญามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ถึงสองพันห้าร้อยกว่าคน ส่วนปรัชญาหลักที่ใช้บริหารที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่งคือ นำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ร่วมกับ การมีวิสัยทัศน์ดี มีการบริหารจัดการดี และ มีเครือข่ายสัมพันธ์ดี
อ้างอิงจาก : จากส่วนหนึ่งบทความ ของดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วยhttp://live.siammedia.org/index.php/article/insider/13391
ความดีความงามเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในผึ้งน้อยเบเกอรี่ เนื่องจากผู้บริหารที่มุ่งหวังประโยชน์ของตนเองน้อยกว่าประโยชน์ของส่วนรวม ไม่มองตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง เมื่อจะทำกิจกรรมอะไรก็จะสอบถามคนในชุมชนก่อนทุกครั้ง หรือมีการชักชวนคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การทำบ่อบำบัดน้ำเสียในโรงงาน การทำห้องเก็บเสียงเครื่องปั่นไฟที่ใช้ในโรงงานหากเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ส่งผลให้คนในชุมชนยกย่องให้ คุณพ่อรัตน์ และแม่ผ่อง เป็นประธานชุมชนหลิ่งกอง ที่เป็นชุมชนที่อยู่รอบๆบริษัท และยังให้ชุมชนใช้พื้นที่ของบริษัทเป็นที่ทำการของชุมชนอีกด้วย
กิจกรรมสำคัญที่องค์กรดำเนินการ ในการส่งเสริมความดีของพนักงาน
ผึ้งน้อย เบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานกว่า 700 คน บริษัทฯจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมและการจัดสวัสดิการพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้พนักงานมีความสุขและตระหนักถึงความสำคัญของการให้ ความมีวินัย และความรับผิดชอบ ดังนี้
การช่วยเหลือเมื่อเมื่อเจ็บป่วย : จะต้องให้การดูแลอย่างรวดเร็วทันท่วงที พนักงานเจ็บป่วยไม่สบาย ก็จะนำเขาส่งโรงพยาบาล โดยมอบหมายให้หัวหน้างานตามไปดูแลด้วย หลังจากนั้นฝ่ายบุคคลจึงค่อยมาทำเรื่องเอกสาร ข้อมูลประกันสังคม ใส่ใจชีวิตของพนักงานมากกว่า จะให้น้ำหนักว่าพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่
การสร้างวินัยทางการเงินให้พนักงาน : จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเงินกู้ เงินออม โดยการเก็บข้อมูลด้านรายรับ รายจ่ายของพนักงาน จนพบว่าพนักงานส่วนใหญ่มีปัญหาทางการเงิน บริษัทจึงจริงจังเรื่องนี้และช่วยวางระบบในการแก้ไขปัญหาด้านการเงินให้พนักงานด้วยการ กำหนดว่า พนักงานที่ผ่านทดลองงานแล้ว จะต้องมีการสะสมเงิน (บังคับ) โดยเริ่มจากเดือนละ 100 บาท คนที่มีปัญหา มีวินัยดี อยากกู้เงิน ก็จะใช้เงินส่วนนี้ โดยให้หัวหน้างานเข้าไปใกล้ชิดกับพนักงาน เพราะบางคนมีปัญหาอะไรจะไม่กล้าบอก ในบางรายบริษัทก็เข้าไปคุยกับพ่อแม่ และครอบครัวของพนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
การสร้างรายได้มาเป็นสวัสดิการ : บริษัทยังให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิการ ด้วยการสอนการคัดแยกขยะ การช่วยประหยัดพลังงาน โดยนำเรื่องนี้มาบรรจุในโปรแกรมการปฐมนิเทศ ซึ่งในแต่ละเดือนขยะที่คัดแยกแล้วขายได้ ก็จะเป็นรายได้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสวัสดิการอื่นๆ เช่น ช่วยงานต่างๆของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง หรืองานศพ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษากับบุตรหลานของพนักงาน มุงหลังคาที่จอดรถให้พนักงานเพิ่ม
จัดตั้งร้านค้าสวัสดิการ : เพื่อช่วยเหลือพนักงานได้ซื้อของในราคาถูก ไม่ต้องเดินทางไปซื้อไกล และยังนำกำไรมาปันผลให้กับพนักงานอีกด้วย เพื่อนำมาเป็นเงินออมทรัพย์ของพนักงาน สร้างรายได้เพิ่มให้กับพนักงาน
โครงการโรงงานในโรงเรียน (ทวิภาคี) : การมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษาและสถานประกอบการ ให้เด็กอาชีวะได้มีโอกาสไปฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อเรียนรู้และหาประสบการณ์ในการทำงานจริง
“อ้างอิง จากบทความของคุณพิมพร ศิริวรรณ นักเขียนผู้สนใจการสร้าง “องค์กรแห่งความสุข” (Happy Workplace) ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641934”
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้คุ้มค่ากับราคาที่ลูกค้าจ่าย ราคาต้องไม่แพง และมีให้เลือกหลากหลาย ผึ้งน้อยเติบโตขึ้นมาได้อย่างมั่นคงและกว้างขวางขึ้น อีกทั้งในความสำเร็จนั้นมีคนมากมายช่วย ทั้งญาติสนิทมิตรสหายคอยช่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งก็เริ่มไปเปิดร้านที่ตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ต (เซ็นทรัลแอร์พอร์ตในปัจจุบัน) และมีสาขาที่เป็นจุดขายเบเกอรี่อยู่ทั้งสิ้น 44 สาขาในภาคเหนือ และเริ่มมีการขยายร้านสาขาไปภาคกลาง และกรุงเทพ มีการแตกแบรนด์ออกไปเป็น Baby Bee เพื่อเอาใจลูกค้าที่ชอบทานขนมพรีเมี่ยม
สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมของพนักงานที่มีจิตอาสามากขึ้น จนกระทั่งรวมตัวกันเป็นกลุ่ม “สายใยมิตร จิตอาสา” ที่รวมตัวกันไปทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีการเข้าร่วมโครงการ To Be Number One เป็นชมรมที่ร่วมกันป้องกันเรื่องของยาเสพติดในโรงงาน
จากความอดทน ความมีวินัย การต่อเวลาที่ผู้บริหารได้บ่มเพาะให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิตส่งผลให้ได้รับรางวัลยกย่องต่างๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร ที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ได้แก่
- “สตรีผู้นำธุรกิจ อนุรักษ์โลกตัวอย่าง” ของสมาพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย
- รางวัลคนดีศรีลำพูน
- รางวัลต้นแบบองค์กรแห่งความสุข Happy Workplace
- รางวัลสถานประกอบการดีเด่นที่จ้างงานคนพิการ
- รางวัลการบริหารและคุ้มครองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
บทเรียนที่ได้/ข้อคิดที่อยากฝาก
การสร้างสุขในที่ทำงานให้พนักงานนั้นมาพร้อมกับการก่อตั้งผึ้งน้อยเบเกอรี่ ด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาของคุณผ่องพรรณ ปาละพงศ์ คุณรัตน์ ปาละพงศ์ ผู้บริหารผู้ก่อตั้งบริษัท จนถึงผู้บริหารรุ่น2 และแม้วันนี้คุณผ่องพรรณ ไม่ได้ลงมือทำขนมด้วยตนเองแล้ว แต่ก็ทำหน้าที่บริหารงาน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพนักงานทุกคน ตลอดจนถ่ายทอดแนวปฏิบัติ การสืบสานวัฒนธรรม การสอนวิธีทำงาน อย่างมีวินัย ตรงเวลา ทำงานเป็นทีม และมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่สำคัญคือองค์กรแห่งนี้ได้ปรับวิถีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน อยู่กลมกลืนอยู่เป็นเนื้อเดียวกับชุมชนได้อย่างสมดุล อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของชุมชนไปสู่ตลาดภายนอก ถือเป็นการเอื้อเฟื้อและแบ่งปันสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของชุมชนได้เป็นอย่างดี