สร้างวัฒนธรรม “ความสุข” ในการบริหารงาน
กว่าจะมาเป็นองค์กรแห่งความสุขต้นแบบ
บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ดำเนินธุรกิจสิ่งทอ ตัดเย็บชุดชั้นในชาย/หญิง ชุดออกกำลังกาย เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ด้วยจำนวนพนักงานเกือบ 600 คน และ 1 ใน 3 เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
แม้ภายในบริษัทจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ริกิ การ์เม้นส์ ก็มีวัฒนธรรมเดียวในการบริหารองค์กรคือ ใช้ “ความสุข” เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นให้พนักงานมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนในการทำงานสร้างสุขในองค์กร จุดเริ่มต้นของการสร้างสุขในบริษัท เกิดจากบริษัทมีอัตราการลาออกของพนักงานสูง สาเหตุส่วนหนึ่งจากการกระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนร่วมงาน ทำให้พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน จนส่งผลไปถึงผลประกอบการของบริษัท ในปี 2552 คณะทำงานจึงหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว และเล็งเห็นว่ากระบวนการสร้างสุขในองค์กรจะช่วยสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับพนักงาน จึงจัดตั้ง “คณะกรรมการสร้างสุข” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ทีมสร้างสุข” ขึ้น
นโยบายสำคัญสำหรับการบริหารและการคุณภาพชีวิตของพนักงาน ในมิติด้านคุณธรรมและธรรมาภิบาล
จุดเริ่มต้นของการสร้างสุขในบริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด เกิดจากบริษัทมีอัตราในการลาออกของพนักงานสูง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนร่วมงาน ทำให้พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน และส่งผลไปถึงผลประกอบการของบริษัท คณะทำงานจึงพยายามหาทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเล็งเห็นว่าการนำกระบวนการสร้างสุขในองค์กรมาเป็นเครื่องมือจะช่วยสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ จึงจัดตั้ง “คณะกรรมการสร้างสุข” หรือ “ทีมปี้” (ย่อจาก Happy Team) เป็นทีมทำงานขับเคลื่อนความสุขให้เกิดขึ้นในบริษัทผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
คุณจรูญ ศิริสรณ์ กรรมการบริหาร บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด กล่าวถึงแนวคิดในการวัดความดีด้วยความสุข ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งคุณจรูญได้นำดัชนีสุขภาวะองค์กรมาปรับเป็นแบบประเมินความสุขที่เรียกสั้นๆ ว่า HMI (Happy Moral Index) เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้พนักงานได้สำรวจและประเมินตนเองในแต่ละเดือน นอกเหนือไปจากการประเมินเมื่อร่วมกิจกรรม
แบบประเมินความสุขจากการทำดี จะประเมินใน 7 มิติ คือ ดีต่อตนเอง ดีต่อครอบครัว ดีต่อเพื่อนบ้าน ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ดีต่อผู้บังคับบัญชา ดีต่อองค์กร ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
แต่ละมิติจะมีประเด็นในการประเมิน 6-9 ข้อ เพื่อประเมินทั้งในด้านการพูดดี คิดดี และทำดี รวมทั้งหมด 56 ข้อ ให้เราประเมินแล้วให้คะแนนตนเอง 1-5 ตามว่าแต่ละประเด็นในการประเมินนั้น เราทำบ่อยเพียงใด โดย 1 = น้อย (ไม่เคย) และ 5 = มาก (บ่อย)
มิติดีต่อตนเอง มีตัวอย่างประเด็นในการประเมิน เช่น 1.เตือนตนเองให้มีสติ 2.อ่อนน้อมถ่อมตน
มิติดีต่อครอบครัว ประเด็นในการประเมิน เช่น 1.พาสมาชิกในครอบครัวไปกินข้าวนอกบ้านหรือทำบุญร่วมกัน 2.มีน้ำใจช่วยเหลืองานบ้าน
มิติดีต่อเพื่อนบ้าน ประเด็นในการประเมิน เช่น 1. ยิ้มและทักทายเมื่อพบเจอกัน 2.เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่รุกล้ำอาณาเขต
มิติดีต่อเพื่อนร่วมงาน ประเด็นในการประเมิน เช่น 1.ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัย 2.ช่วยแนะหรือสอนงานที่เรามีความชำนาญให้
มิติดีต่อผู้บังคับบัญชา ประเด็นในการประเมิน เช่น 1.ให้ความเคารพอย่างจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง 2.ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานอย่างเต็มใจ
มิติดีต่อองค์กร ประเด็นในการประเมิน เช่น 1.รักษาเวลา ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง 2.ให้บริการหรือพูดจากับผู้มาติดต่องานอย่างสุภาพ
มิติดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเด็นในการประเมิน เช่น 1.เสียสละหรืออุทิศเวลาเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมช่วยเหลือสังคม 2.เคารพสิทธิของผู้อื่น
แบบประเมินนี้ไม่มีผลต่อการประเมินผลงานของพนักงานแต่อย่างใด แต่เมื่อได้มีการตรวจสอบตัวเอง ทำให้พนักงานหลายคนพบว่าฉุกคิดขึ้นได้ว่าตนเองยังละเลยหรือหลงลืมในเรื่องใดก็จะปรับปรุง หรือปฏิบัติ เช่น เดือนนี้ยังไม่ได้พาสมาชิกในครอบครัวไปรับประทานอาหารร่วมกัน ก็จะพาไป เป็นต้น
กิจกรรมสำคัญที่องค์กรดำเนินการ ในการส่งเสริมความดีของพนักงาน
ที่ริกิการ์เม้น ทุกเช้า หัวหน้างานจะทักทายพนักงานทุกคนที่หน้าโรงงาน เมื่อพนักงานเดินทางมาจนครบแล้วก็จะมีกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันก่อนเข้างาน และในช่วง 15.00 น. พนักงานจะได้ผ่อนคลายกับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ที่ทางบริษัทจัดสลับสับเปลี่ยนกันไป เช่น กิจกรรมทำสมาธิ กิจกรรมสันทนาการ ฯลฯ เป็นตัวอย่างของกิจกรรมเล็กๆ ที่ทางบริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด คิดสรรมาเพื่อสร้างสุขให้กับพนักงานทุกคนในทุกวัน และยังมีอีกหลายกิจกรรมที่น่าสนใจน่าศึกษา ซึ่งนำมาทั้งความสุขของคนทำงานและความสำเร็จขององค์กร
เริ่มแรกทางทีมได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งขององค์กร พบว่าจุดอ่อนขององค์กรเกิดจากการทำงานที่รีบเร่งตามยอดสั่งซื้อ ทำให้พนักงานปิดกั้นที่จะบอกความรู้สึกภายใน แต่จุดแข็งคือพนักงานให้ความร่วมมือในกิจกรรมที่บริษัทจัดขึ้นเป็นอย่างดี ทางทีมจึงมุ่งไปที่การสร้างสุขให้กับพนักงานด้วยกิจกรรม โดยคิดกิจกรรมสร้างสุขที่มีความหลากหลาย ครอบคลุม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพนักงาน เช่น กิจกรรมหน้ากากยิ้ม เพียงเพิ่มการสกรีนรอยยิ้มไว้บนหน้ากาก อุปกรณ์สำคัญที่พนักงานในโรงงานสิ่งทอทุกคนจะต้องสวมเพื่อป้องกันฝุ่นละออง ก็กลับช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับพนักงานในเวลาเครียดได้อีกทางหนึ่ง กิจกรรมลด ละ เลิก อบายมุข รณรงค์ให้พนักงานลดเหล้าและบุหรี่
กิจกรรมแบ่งฉันปันเธอ จัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 เดือน โดยบริษัทจัดพื้นที่ให้พนักงานได้นำสิ่งของมาให้เพื่อนพนักงานได้จับจ่ายในราคาย่อมเยา จนในระยะหลังเมื่อความสัมพันธ์ของพนักงานดีขึ้น จากการซื้อขายก็แปรเปลี่ยนเป็นการแลกเปลี่ยนกันไปโดยปริยาย
กิจกรมส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว ได้มีการจัดมุมนมแม่ ในองค์กร การมอบทุนการศึกษาให้กับลูกหลานพนักงาน
กิจกรรมส่งเสริมสติในการทำงานหรือ MIO เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน
กิจกรรมคนดีศรีริกิ เป็นกิจกรรมที่ให้เขียนเรื่องเล่าความดีของเพื่อนพนักงาน ส่งมาที่ทีมสร้างสุข ผู้ที่เขียนจะได้รับรางวัลเป็นเสื้อยืดคนดีศรีริกิ ส่วนเพื่อนที่ทำความดีจะได้รับพระพุทธรูปไปบูชา และได้รับการเผยแพร่ความดีผ่านทางคลิปวิดีโอ กิจกรรมนี้ทำให้พนักงานได้สังเกตและเห็นความดีของคนอื่น แม้ความดีเล็กๆ เช่น ความประทับใจที่เพื่อนแกะซองขนมให้ โดยผู้เขียนกล้าที่จะเปิดใจชื่นชมการทำความดีของผู้อื่น ที่สำคัญคือเกิดความสัมพันธ์อันดีในหมู่พนักงาน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมสร้างสุขในริกิ การ์เม้นส์ ประสบความสำเร็จ คือทีมสร้างสุขได้สื่อสารกับพนักงานถึงประโยชน์ในการร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ทีมสร้างสุขยังให้ความสำคัญคือการประเมินผลกิจกรรม โดยจะประเมินความสุขเบื้องต้นของพนักงานก่อนเริ่มกิจกรรม และหลังจากร่วมกิจกรรมในทุกกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ตอบสนองความต้องการของพนักงาน และบูรณาการเข้ากับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
หลังจากการจัดกิจกรรมสร้างสุขในองค์กร ความสัมพันธ์ของพนักงานในแผนกต่างๆ ดีขึ้น พูดคุยกันมากขึ้นแม้จะอยู่คนละแผนก ปัญหาการกระทบกระทั่งลดน้อยลง เมื่อพนักงานมีความสุขก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย
“มนุษย์มีความสามารถที่ไร้ขีดจำกัด หากมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการดำเนินชีวิต เขาก็จะสามารถใช้ศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มที่ในการทำงาน” คุณจรูญ กล่าว
นอกจากประสิทธิภาพการทำงานแล้ว พนักงานยังมีจิตอาสามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังตัวอย่างการอาสาเข้าร่วมทีมสร้างสุข ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างสุขให้เพื่อนพนักงาน หรือร่วมกิจกรรมของบริษัทอย่างแข็งขันในการปลูกดอกดาวเรือง ร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทั้งความสุขที่เกิดขึ้นในตัวพนักงานเอง ยังส่งผ่านจากองค์กรไปสู่ในระดับชุมชน ดังที่ได้ออกไปร่วมขุดลอกผักตบชวาในชุมชน หรือนำความรู้ความชำนาญในเรื่องการมัดย้อมที่มีไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
ขณะเดียวกัน เมื่อบริษัทใช้วัฒนธรรม “ความสุข” ในการขับเคลื่อนองค์กร จนเกิดวัฒนธรรมแห่งการให้ ให้เกียรติให้คุณค่ากับพนักงานทุกคนในทุกระดับ ผลสะท้อนสู่บริษัทจึงเป็นทั้งด้านผลประกอบการ และการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น 1 ในเครือข่ายคุณธรรมในจังหวัดราชบุรี และในเชิงปริมาณนั้น อัตราการลางานลดลง อัตราการลาออกของพนักงานลดลง มีความรักและผู้กพันต่อองค์กรมากขึ้น พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสัดส่วนผลผลิตต่อคนต่องานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี
บทเรียนที่ได้/ข้อคิดที่อยากฝาก
บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ถือว่าเป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่หันมาสนใจเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับพนักงานในองค์กรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างนิ่งการส่งเสริมเรื่องระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตอาสา จนสามารถพัฒนาเครื่องมือวัดความดีของคนทำงานขึ้นมาปรับใช้กับพนักงานในองค์กรได้ เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความดีของคนนั้น สามารถวัดให้เห็นเป็นรูปธรรมได้เช่นกัน ปัจจุบันองค์กรแห่งนี้ได้ยกระดับเป็นองค์กรต้นแบบทั้งในเรื่องของการสร้างสุข และในเรื่องของการส่งเสริมคุณธรรม หลายหน่วยงานสนใจขอเข้าไปศึกษาดูงาน ปัจจัยความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายของผู้บริหาร ที่เห็นความสำคัญด้านคุณค่าความดีของคน และมีความตั้งใจพัฒนาส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญขององค์กร โดยมุ่งหวังให้คนในองค์กรมีความสุขจากการทำความดี ทั้งดีต่อตนเอง ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ดีต่อครอบครัว ดีต่อองค์กร ดีต่อสังคม และดีต่อประเทศชาติ