web analytics

จากศาสตร์พระราชา สู่การพึ่งพาตนเอง

ศูนย์บ่มเพาะคุณธรรม วัดพระบรมธาตุดวยผาส้ม
“จากศาสตร์พระราชา สู่การพึ่งพาตนเอง”

มาถึงวันนี้พวกเราคนไทยได้ประจักษ์แล้วว่า การนำศาสตร์พระราชามาใช้เป็นหลักในการบริหารหรือในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เป็น “ทางรอด” ของประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแบบอย่างที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วให้เห็น ให้ได้เรียนรู้มากมายหลายพื้นที่ของประเทศไทย หนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งกำลังจะกล่าวถึงนี้ก็คือ ศูนย์บ่มเพาะคุณธรรม วัดพระบรมธาตุดวยผาส้ม

ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่คณะทำงานโครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อน สู่องค์กรคุณธรรม ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ (พระอาจารย์โต้ง) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ให้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานของศูนย์บ่มเพาะคุณธรรมที่ท่านได้ดำเนินการมา 10 กว่าปี
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวศูนย์บ่มเพาะคุณธรรม จะขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระอาจารย์โต้งและวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ให้ได้ทราบพอสังเขป

พระอาจารย์โต้ง ท่านเป็นคนกรุงเทพฯ ที่บ้านทำธุรกิจการค้าขายเหล็ก อยู่แถวหัวลำโพง ชีวิตในวัยเด็กเติบโตมาตามสูตรของเด็กผู้ชายในกรุงเทพฯ ทั่วไป สมัยมัธยมศึกษาตอนต้นท่านเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและไปต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ไปจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด สหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาเพียงปีเดียว ก่อนได้งานที่ธนาคารโลก(World Bank) แล้วเปลี่ยนไปทำให้บริษัทสายการบินฟินิกซ์ ที่แอริโซนา รวมช่วงเรียนและทำงานอยู่ในสหรัฐ 3 ปีเต็ม ผ่านการใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้มาอย่างโชกโชน จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ หาคำตอบให้กับชีวิตไม่ได้ ต่อมาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง “บ้านที่แท้จริง” ของหลวงพ่อชา สุภัทโท จนเกิดความเลื่อมใส จึงได้ละทางโลกเข้าสู่ทางธรรมโดยไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ ลูกศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ในปี 2544

ท่านบวชตอนอายุ 24 ปี ในขณะนั้นครอบครัวต่างไม่เห็นด้วย อยากให้ท่านทำงาน แต่ท่านก็ยืนกรานจะบวชให้ได้ หลังจากบวชแล้วท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี ช่วยสั่งสอนอบรมนักเรียนมาสองปีกว่า จากนั้นได้ขออนุญาตหลวงพ่อทูลมาหาความสงบเงียบให้กับตัวเอง ตอนแรกมาอยู่ที่วัดใน อ.สะเมิง พอปี 2547 มีญาติโยมนิมนต์ให้ไปดูวัดร้างบนดอยผาส้ม ซึ่งพบว่ามีแต่สถูปเก่าที่ถูกไฟไหม้ จึงได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขร ท่านชักชวนญาติโยมเพื่อนฝูงพี่น้องมาช่วยกันพัฒนา เริ่มพัฒนาบูรณะซ่อมแซมมาตั้งแต่ปี 2548 จากที่ไม่มีถนน ก็ทำถนน ไม่มีไฟฟ้าก็เอาไฟฟ้าเข้า มีคนเริ่มมาช่วยมากขึ้น จากการสร้างวัด สร้างพระบรมธาตุนี้เองทำให้ท่านรู้สภาพปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น รู้สภาวะเศรษฐกิจ สังคม รู้สภาวะทางด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ว่าสังคมกำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้น จึงเริ่มที่จะพลิกจากเป็นพระที่พาก่อสร้างมาเป็นการพัฒนา กลายเป็นพระนักพัฒนา ซึ่งสิ่งที่ท่านได้พัฒนามีสองเรื่องที่สำคัญ คือการพัฒนาเชิงพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน

ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่นั้น พระอาจารย์โต้งให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเสื่อมโทรมทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและความโลภของมนุษย์ โดยทำการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ เพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ จึงได้ชักชวนบ้านและภาคีเครือข่ายกันทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟ ทำอ่างเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเพื่อให้คนนอกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์ จึงมีการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อการกุศลในพื้นที่ป่า(Phasom Trail) ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกิจกรรมบางส่วนที่ท่านได้ดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ท่านพระอาจารย์โต้งได้ดำเนินการในหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายหลักคือต้องการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงาน จึงได้ก่อตั้งเป็นศูนย์บ่มเพาะคุณธรรมและ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ที่มาร่วมด้วยช่วยกันจนทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมดังทุกวันนี้
กิจกรรมที่ได้ดำเนินการภายใต้ศูนย์แห่งนี้ก็คือ การทำเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง น้ำยาฮอร์โมนต่างๆ ยาขับไล่แมลง ทำน้ำยาเอนกประสงค์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และการจัดการแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการชีวิถี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน การอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ผลิตไบโอดีเซลจากเมล็ดทานตะวัน สบู่ดำ การทำอิฐไว้ใช้เอง การทำโรงสีข้าวเอง การส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ (Home School)โดยการบูรณาการสาระการเรียนรู้เข้าสู่บริบทชุมชนของตนเอง ทั้งยังนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและไอซีที มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายไปที่เด็กในชุมชนซึ่งขาดโอกาสทางการศึกษา ท่านใช้แนวทางพระราชดำริ “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่มีความสัมพันธ์กันโดยอาศัยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชนพร้อมกันใน 4 ด้าน คือ 1) การอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร 2) การพึ่งพาตนเองในด้านเกษตรอินทรีย์ 3) การอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน 4) การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ (Home School) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้เหมาะกับเด็กในชุมชน โดยการเรียนของเด็กๆ นั้น จะดำเนินไปตามฐานการเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน ประกอบด้วย

ฐานที่ 1 ฐานรักษ์ป่า เป็นกิจกรรมการจัดทำธนาคารต้นไม้ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือได้ประโยชน์จากป่าเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี เป็นกองทุนสะสมไว้ให้ลูกหลาน โดยพระสังคมเป็นผู้ริเริ่มให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และปฏิบัติร่วมกันเป็นรูปธรรมในพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ฐานที่ 2 ฐานรักษ์น้ำ เป็นการสร้างฝาย ชะลอน้ำ ไม่ให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน ลดการเกิดน้ำท่วมจากน้ำป่า สร้างการมีส่วนร่วมทั้งคนนอกชุมชนและคนในชุมชนมาร่วมกัน ปัจจุบันมีฝายเล็กๆที่ช่วยชะลอน้ำอยู่ไม่น้อยกว่าพันฝาย และมีฝายขนาดใหญ่ดาดปูน 6 ฝายซึ่งจัดสร้างโดยมีวิศวกรออกแบบและช่วยกำกับดูแล
ฐานที่ 3 ฐานรักษ์แม่ เป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพและการทำเกษตรอินทรีย์
ฐานที่ 4 ฐานคนมีน้ำยา เป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องการทำน้ำยาเอนกประสงค์ต่างๆเพื่อใช้ในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ เพื่อให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ฐานที่ 5 ฐานคนเอาถ่านเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการเผาถ่านและเก็บผลผลิตเป็นน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ต้นไม้ กิ่งไม้มาเผาถ่าน น้ำส้มควันไม้ที่ได้นำไปใช้ในการไล่แมลงที่มากัดกินพืชที่ปลูกได้
ฐานที่ 6 ฐานพออยู่พอกิน เป็นกิจกรรมการปลูกพืชแบบผสมผสาน ร่วมกับการปลูกพืชอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนได้เห็นว่าการปลูกผักกินเองเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ประหยัดค่าใช้จ่าย มีความหลากหลายของพืชที่ปลูก ดินไม่เสียเหมือนกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ฐานที่ 7 ฐานคนเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมการเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งเป็นการเลี้ยงหมูแบบประหยัด เลี้ยงด้วยเศษอาหารในครัวเรือน มูลหมูสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืช หรืออาจจะสามารถนำมาใช้เป็นก๊าซหุงต้มในกรณีที่มีมาก
ฐานที่ 8 ฐานคนมีไฟ เป็นฐานเรียนรู้เกี่ยวกับการทำไบโอแก๊ส โดยให้ชาวบ้านนำน้ำมันที่ใช้แล้วในครัวเรือน มาเป็นวัสดุในการทำไบโอแก๊ส ใช้กับเครื่องจักรชนิดต่างๆ เช่น เครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งฐานนี้ก็จะเชื่อมโยงกับฐานคนเลี้ยงสัตว์คือ นำมูลสัตว์มาทำเป็น ไบโอแก๊ส ใช้แทนก๊าซหุงต้ม
ฐานที่ 9 ฐานนาอินทรีย์เป็นฐานเรียนรู้การปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนได้รู้ถึงประโยชน์ของการปลูกข้าวอินทรีย์ ที่ให้ระบบนิเวศเป็นผู้จัดการกับแมลงศัตรูพืชตามห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย บริโภคอย่างปลอดภัย
ฐานการเรียนรู้เหล่านี้เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สำคัญของ โฮม สคูล แห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม โดยผสมผสานระหว่างทักษะวิชาชีพกับทักษะการใช้ชีวิตรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน พร้อมกันการใช้หลักธรรมเป็นวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ ที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน

ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาของเราในระบบปัจจุบัน ไม่ได้เหมาะกับคนในประเทศไทยทุกกลุ่มทุกประเภท ระบบการศึกษาได้ลากคนเข้าสู่ส่วนกลางหมด โดยไม่เปิดช่องทางอื่นไว้เลย อย่างบางคนบอกว่าอยากเรียนอาชีพ เมื่อพูดถึงสายอาชีพเราก็จะนึกถึงสถาบันการศึกษาอาชีวะ แล้วก็ส่งลูกหลานเข้าเรียนอาชีวะ แต่ลองคิดดูว่าการเรียนอาชีวะสาขาอะไรบ้างที่นำกลับมาประกอบอาชีพในท้องถิ่นที่บ้านได้ ระบบการเรียนตอนนี้ไม่ได้เรียนเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่น แต่เรียนเพื่อไปของานคนอื่นทำในเมืองกรุง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่อยู่ในท้องถิ่นไม่สามารถถ่ายทอดวิชาชีพของตนเองสู่ลูกหลานได้ เพราะระบบการศึกษาได้ลากเอาลูกหลานไปอยู่ในเมืองกรุงจนหมดสิ้น ดังนั้น หลักสูตรโฮม สคูล (Home School) ของวัดพระบรมธาตุดอยผาส้มแห่งนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นทางรอดของชุมชน ซึ่งน่าสนใจว่าอาจเป็นคำตอบสำหรับแนวการศึกษาภาคชนบทอย่างแท้จริงได้ในอนาคต

Copyright © 2019. All rights reserved.