web analytics

บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน)

“สตาร์ปริ๊นท์ ทำดี ทำได้ทุกที่ทุกเวลา”

 

ข้อมูลพื้นฐานองค์กร

บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1992 เริ่มจากการทำธุรกิจผลิตสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์กระดาษแข็ง สื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อธุรกิจต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า โดย
ทำการผลิตอยู่ในห้องแถวเล็กๆ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แต่ด้วยความขยันอดทน
ของผู้บริหารที่พยายามพัฒนาให้ธุรกิจเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปีค.ศ. 2014 จึงมีฐานลูกค้า
ใหญ่ขึ้น ธุรกิจขยายตัวมากขึ้น

ผู้บริหารจึงขยายบริษัทไปอยู่ในพื้นที่โครงการบางเพรียงพัฒนา ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 500 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนไทย ถือเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหารที่ประสงค์จะรับเฉพาะพนักงานที่เป็นคนไทย ซึ่งอาจสวนทางกับกระแสสังคมธุรกิจในปัจจุบันไม่น้อย เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องพึ่งพิงแรงงานจากต่างประเทศกันมาก บางองค์กรมีพนักงานต่างชาติมากกว่าพนักงานคนไทยเสียอีก ปรากฎการณ์นี้มีให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ประเทศเราเปิดประตูสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน แต่สำหรับองค์กรแห่งนี้ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานที่เป็นคนไทย ด้วยผู้บริหารมองว่า การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ
ในการบริหารคน บริหารงานและการดำเนินธุรกิจ การอยู่ร่วมกันในวัฒนธรรมเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน การมีวิถีชีวิตเป็นแบบเดียวกัน เป็นสิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรเป็นหนึ่งเดียวกัน การจะสื่อสารอะไรไปสู่พนักงานก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย คนไทยด้วยกันย่อมเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า

 

แนวทางการบริหารองค์กร

ผู้บริหารของบริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานในประเทศมากกว่า
การพึ่งพิงแรงงานจากต่างประเทศ
  นอกเหนือจากการเสริมทักษะในเรื่องการทำงานแล้ว การส่งเสริมทักษะ
ในการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของผู้บริหารเช่นกัน โดยมองว่าพนักงานทุกคนเปรียบเสมือนคนในครอบครัว จึงมีนโยบายในการส่งเสริมบรรยากาศให้พนักงานอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกันและกัน  ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น ให้พนักงานมีความรู้สึกว่านี่คือบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมาย คืออยากจะให้พนักงานอยู่กับบริษัทได้นานที่สุด ถึงแม้ว่าเงินคือปัจจัยแรกที่จะทำให้พนักงานตัดสินใจอยู่กับบริษัท แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่จะสนับสนุนให้พนักงานทำงานอยู่กับบริษัท
ได้ยาวนาน  สิ่งนั่นก็คือการมีความรักความเข้าใจต่อพนักงาน
 หากผู้บริหารมีความรัก มีความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ก็จะสามารถทำให้พนักงานเกิดความรักความผูกพันกับองค์กรแห่งนี้ และอยากจะอยู่ทำงานกับองค์กรแห่งนี้ตลอดไป

การให้ความสําคัญกับพนักงานเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารวางเป็นนโยบายสำหรับการส่งเสริมความสุขให้พนักงานในองค์กร โดยผ่านทีมงานอาสาสร้างสุขที่จัดตั้งขึ้นมา หลังจากได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้การสร้างสุของค์กร(Happy Workplace) จากโครงการเสริมสร้างการเป็นองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ทีมงานก็ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งสร้างความสุขให้พนักงาน ทั้งในส่วนของ Work Skill และ Life Skill อย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจดีในการทำกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานมีความสุข แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พนักงานยอมรับ และร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกันทุกคน ฉะนั้นการเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานเกิดการยอมรับในตัวผู้บริหาร คำว่า “ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน” น่าจะเหมาะกับผู้บริหารขององค์กรแห่งนี้ การทำให้ดูเป็นตัวอย่างถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำหรือผู้บริหารในยุคปัจจุบัน  เพราะไม่ต้องอาศัยคำพูดที่แสดงถึงเจตนาที่หวังดี หรือกระทบกระทั่งเพื่อให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกให้อยากทำตามแต่ประการใด แต่เป็นการแสดงถึงภาวะที่ไม่มีปัญหากับตัวเอง หรือแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปฏิบัติให้ดูนั้นก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไร  ส่วนหน้าที่ในการเลือกที่จะทำตามหรือจะเข้าใจสิ่งนั้นหรือไม่ เป็นเหตุผลของผู้ที่พบเห็น ซึ่งเขาสามารถสัมผัสความรู้สึกส่วนนี้ได้ 

 

กระบวนการดำเนินงานขององค์กร

ในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขขององค์กรแห่งนี้ เริ่มจากที่ผู้บริหารสนใจและมอบเป็นนโยบายให้ทีมงานอาสาสร้างสุขไปดำเนินการ โดยใช้ฐานความสุข Happy 8 เป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงาน ทีมงานเองได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบกันตามมิติความสุขทั้ง 8 ประการ
ซึ่งพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละคนในการทำกิจกรรมของแต่ละมิติความสุข จากการหารือกันในทีมพบว่า หากจะให้พนักงานได้รับความสุขอย่างแท้จริง การทำกิจกรรมสนุกสนานรื่นเริงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือต้องเป็นความสุขที่เกิดจากข้างในจิตใจ ดังนั้น การที่คนเราจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเริ่มจากวิธีคิดก่อนนั่นคือ การปรับทัศนคติให้คิดบวกมากขึ้น

จากความเข้าใจที่ว่า “คนจะมีความสุขได้ ต้องเริ่มจากการให้”  ได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่สำคัญของทีมอาสาสร้างสุข เป้าหมายหลักคือต้องการส่งเสริมให้พนักงานมีจิตอาสา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ แบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น ดังนั้น ทีม Happy Heart จึงเริ่มออกแบบกิจกรรมร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ข้างต้น โดยการทำ “กิจกรรม Happy Curing” เพื่อให้บรรยากาศมีความคึกคัก จึงให้น้องๆ เสมือนว่าเป็นพริตตี้ถือป้ายแนะนำโครงการ เข้าไปในไลน์การผลิต ไปแนะนำตัวและสัมภาษณ์พนักงานในไลน์ ว่า “วันนี้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับคุณแล้วหรือยัง…? วันนี้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับคุณบ้าง…?  ขอให้พนักงานเล่าให้ฟัง พยายามกระตุ้นให้เขาได้คิดทบทวนเรื่องราวความดีต่างๆ ที่ได้กระทำหรือไปพบเห็นกับตนเอง
บางคนก็บอกว่ามีคนทำกับข้าวให้ทาน บางคนบอกว่าผมดีใจผมได้ไปส่งลูกที่โรงเรียน บางคนมีความสุขที่ไปเจอคนแก่ จูงคนท้องข้ามถนน บางครั้งเรื่องราวเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่สำหรับคนที่ได้ประสบมันคือความสุขทางใจ ยากที่คนอื่นจะมองเห็น  แต่กิจกรรมนี้เป็นการกระตุ้นให้พนักงานได้ถ่ายถอดอารมณ์ความรู้สึกด้านบวกออกมา  เมื่อพนักงานมีเรื่องดีๆ มาเล่า มาแชร์ให้เพื่อนๆ ทีมงานก็จะให้คูปองไปแลกน้ำดื่มฟรีที่โรงอาหารเป็นการตอบแทน ถือเป็นจุดเริ่มของการปรับทัศนคติให้ทางบวกที่ได้ผลเป็นอย่างดี

นอกจากการส่งเสริมให้พนักงานคิดบวกแล้ว ทีมงานก็มีโครงการต่อยอดจากอารมณ์ของการ
คิดบวก นั่นก็คือ “โครงการ Happy Star Market ตลาดปันน้ำใจ” เป็นการส่งเสริมให้พนักงานได้มีหัวใจแห่งการแบ่งปัน โดยให้พนักงานนำสิ่งของสะสมหรือของที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังมีประโยชน์มาร่วมบริจาคให้กับทีมงาน ซึ่งทีมงานจะเป็นผู้คัดแยกรวบรวม แล้วไปเปิดเป็นตลาดปันน้ำใจ ขายให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำเงินไปทำบุญหรือเลี้ยงอาหารเด็ก บางครั้งก็ไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน ซึ่งผู้บริหารได้ให้การสนับสนุนร่วมสมทบทุน และนำของมาร่วมบริจาคในกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีการตั้ง สโลแกนในการทำกิจกรรมนี้ว่าเริ่มจากให้  ยังไงก็ได้

 

              กิจกรรม แชะ แชร์ โพส “ทำดีทำได้ทุกที่ทุกเวลา” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้น โดยที่ผู้บริหารต้องการให้มีการทำดีเพื่อสังคม ทีมงานจึงได้มีการจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้น เมื่อมีการทำความดีผู้บริหารก็อยากเห็นการแชร์กิจกรรมดี ๆ ที่พนักงานไปทำกันมา เลยเป็นที่มาของการ แชะ แชร์ โพส คำว่า แชะ หมายถึงการถ่ายรูปที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมความดีหรือเรื่องราวความดีที่ไปพบเจอมา แชร์ คือการแชร์ในกลุ่มไลน์ เฟสบุ๊คของบริษัทสตาร์ปริ๊นท์ และ โพส  เป็นการโพสในอินสตาแกรม เฟสบุ๊ค หรือป๊อบอับ ของบริษัท กิจกรรมนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกับกิจกรรมด้านอื่น ๆ ได้อย่างกลมกลืน เพราะไม่ว่าใครจะทำความดีในส่วนใดก็ตาม จะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต การมีจิตอาสา การทำบุญ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำความดี  ทุกคนจะมีการเก็บเรื่องราวไปเล่า ไปแชร์ ไปโชว์ในพื้นที่สื่อทั้งหมดทั้งของส่วนตัวและของบริษัท จึงเป็นที่มาของสโลแกนว่า “ทำดีทำได้ทุกที่ทุกเวลา” เรื่องราวเหล่านี้ได้มีการเผยแพร่ผ่านคลิปวีดีโอ ที่ทีมงานได้ถ่ายทำไว้ในระหว่างการดำเนินโครงการ และนำมาเปิดให้พนักงานได้ชมในวาระ
ต่างๆ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งองค์กร

เหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมบางส่วนในการส่งเสริมคุณงามความดีที่องค์กรแห่งนี้ได้ดำเนินการ
จะเห็นวิธีการออกแบบกิจกรรมที่ลงตัวกับความวิถีชีวิตของคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบกับเวลาการทำงานขององค์กรแต่อย่างใด ในทางกลับกันการทำกิจกรรมลักษณะนี้ได้ส่งเสริมคุณงามความดีของคนในองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้บรรยากาศในการทำงานร่วมกัน เป็นแบบครอบครัวอย่างแท้จริง องค์กร
แห่งนี้ยังมีกิจกรรมอื่นอีกหลายอย่าง ที่ไม่ได้พูดถึง แต่ทุกกิจกรรมจะมุ่งไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงานด้วยกันทั้งสิ้น

 

 

ผลลัพธ์การดำเนินงาน

ผลที่เกิดจากการขับเคลื่อนโครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้พนักงานได้หันมาทบทวนพฤติกรรม อารมณ์ตัวเองมากขึ้น  ได้เห็นถึงความดีของคนอื่นได้ง่ายขึ้น
ลดอารมณ์ความรู้สึกที่จะมุ่งจับผิดผู้อื่นเพียงด้านเดียว เกิดอารมณ์เชิงบวกเข้ามาแทนที่ กลายเป็นความทรงจำที่มีค่ากับชีวิตมากขึ้น บรรยากาศของความเข้าใจ ความรัก ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้การทำงานมีความประสานกลมเกลียวกันมากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ งานบุคคลซึ่งต้องมีความเข้มงวดในเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ  ปกติเมื่อฝ่ายบุคคลเดินเข้าไปในไลน์การผลิต พนักมักจะหลบเลี่ยง ไม่ค่อยอยากสบตา ไม่ค่อยอยากจะคุยกับฝ่ายบุคคลมากนัก  ฝ่ายบุคคลเองก็รู้ดีว่าพนักงานคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรา แต่หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน  บรรยากาศแบบเดิมก็หายไป พนักงานเข้าใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลมากขึ้น
มีความสนิทสนมในการพูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น กล้าที่จะเข้ามาพูดคุยมากขึ้น อยากจะมาร่วมกิจกรรมกับบริษัท ความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์นี้เห็นได้ชัดเจน

ความสำเร็จเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการร่วมมือร่วมใจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ฝ่ายบริหารที่เห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตคนทำงาน ต้องการให้ทุกคนมีความสุขกับบ้านหลังนี้ ทีมงานอาสาสร้างสุขที่มีความอดทนพยายามเรียนรู้และร่วมกันออกแบบกิจกรรมสร้างสุขด้านต่างๆ ที่เหมาะกับวิถีชีวิตชาวสตาร์ปริ๊นท์ และพนักงานทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ  ถือว่าทุกฝ่ายในองค์กร
มีส่วนสำคัญที่สร้างสรรค์ให้เกิดบรรยากาศของความสุข บรรยากาศของความรัก ความเอื่อเฟื้อเผื่อแผ่
การแบ่งปัน  สุดท้ายคือการหลอมรวมพลังของทุกคนทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีความเจริญมั่นคงต่อไป

 

บทเรียนการดำเนินงาน

บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่บริหารจัดการความสมดุลของชีวิตพนักงานงานได้อย่างลงตัว มีกระบวนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงานเพื่อมุ่งไปสู่ความดี และความสุขของคนในองค์กรที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอยู่ที่ “คน”  เริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการให้ จนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้  ทำให้คนมีวิถีชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานที่สมดุลกัน สามารถจัดการชีวิตตนเองได้  ทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือเรียกว่าชีวิตสามารถออกแบบเองได้นั่นเอง  การทำงานด้วยบรรยากาศของความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่การจะไปถึงเป้าหมายสุขได้นั้น ต้องมีกระบวนการออกแบบที่ชัดเจน รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ  เริ่มตั้งแต่ระดับบริหารที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง คณะทำงานที่มีความตั้งใจและเสียสละในการดำเนินงาน สุดท้ายคือการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรทุกระดับ ที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง และมีความสุขร่วมกัน นี่คือวิถีทางชาวสตาร์ปริ๊นท์ ที่นำคุณงามความดีของคนในองค์กรมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจ

š š š š š š š

Copyright © 2019. All rights reserved.