บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดยุทธการสู้โควิด 19
โดย สิทธิพร กล้าแข็ง
เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะนี้ (พ.ศ.2563) เกิดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ การเมืองหรือสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่ได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งต้องหยุดกิจการ หรือบางแห่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ บางที่ต้องลดคนทำงาน ลดค่าตอบแทนเพื่อประคองไม่ให้องค์กรต้องหยุดกิจการ ทำให้คนทำงานในองค์กรได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังมีหลายองค์กรที่สามารถปรับตัวสู้วิกฤติครั้งนี้จนประคองกิจการให้ดำเนินไปได้ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด(มหาชน) ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มีพนักงานอยู่ในความดูแลจำนวน 400 คน
อุโมงค์ฆ่าเชื้อที่องค์กรผลิตขึ้นมาใช้เองในบริษัท
ผู้บริหารของ สตาร์เฟล็กซ์ เชื่อมั่นในศักยภาพของคน จึงได้มีการวางรากฐานของการสร้างความสัมพันธ์ด้วยวัฒนธรรมการทำงานด้วยความสุขและไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กรและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน ได้แก่ กิจกรรมกินเป็นลืมป่วยที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักปลอดสารพิษตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิด รวมทั้งกิจกรรมแบ่งปันสู่สังคมอีกหลายอย่าง
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบทางธุรกิจเช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมรับว่าองค์กรได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวขัองกับการพัฒนาศักยภาพของคน การรักษาระเบียบวินัย การสร้างจิตสำนึกที่ดีของคนในองค์กร ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนคนในองค์กรรู้สึกได้ถึงความมั่นคงในชีวิตการทำงานร่วมกับองค์กรแห่งนี้
SFLEX ตัดผมผ่าวิกฤติ COVID-19
หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมและจำกัดการแพร่กระจายของโรค หลายธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการ หนึ่งในนั้นคือร้านตัดผม องค์กรแห่งนี้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพนักงานที่ไม่สามารถหาร้านตัดผมได้ จึงได้จัด “โครงการ SFLEX ตัดผมผ่าวิกฤติ COVID-19” โดยดัดแปรงห้องที่เคยใช้สำหรับรับรองลูกค้าเป็นห้องตัดผม ส่งพนักงานที่มีทักษะและสนใจอยากเป็นช่างตัดผมไปเรียนรู้ และกลับมาเป็นช่างตัดผมประจำองค์กร ระหว่างที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อคประเทศ พนักงานในองค์กรแห่งนี้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมาก ไม่เว้นแม้ผู้บริหารก็มาใช้บริการที่ร้านตัดผมแห่งนี้ สำหรับพนักงานที่เป็นช่างได้ใช้เวลาหลังเลิกงานมาให้บริการตัดผมแก่เพื่อนพนักงาน ทุกคนทำด้วยจิตอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่สิ่งที่ได้คือความสุขที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนพนักงานด้วยกัน
ห้องตัดผม สำหรับเสริมสวยหรือเสริมหล่อของสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
รียูสน้ำแอร์ เทคแคร์สวนผัก
นอกจากกิจกรรมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการต่อยอดกิจกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นครั้งนี้ องค์กรได้จัดโครงการใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โครงการรียูสน้ำแอร์ เทคแคร์สวนผัก” ซึ่งเกิดจากผู้จัดการฝ่ายบุคคลและทีมงานนักสร้างสุขเห็นคุณค่าจากน้ำแอร์ที่ปล่อยทิ้งออกไปเฉย ๆ โดยที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงมีความคิดที่จะนำน้ำทิ้งจากแอร์มาใช้ลดน้ำต้นไม้ในโรงเรือน จากแนวคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิบัติ ทีมงานนักสร้างสุขร่วมกันออกแบบโดยนำน้ำทิ้งจากแอร์ทุกเครื่องมารวมไว้ในถังพัก แล้วส่งต่อไปสู่โรงเรือนเพื่อใช้รดพืชผักสวนครัว ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้การสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรคุณธรรม ดำเนินการโดย ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) และมูลนิธิหัวใจอาสา ได้เชิญ อาจารย์บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และทีมวิทยากร จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มาให้ความรู้ในเรื่องการปลูกพืช การผลิตน้ำยาสระผม สบู่ น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ และอีกหลายอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องใช้ในครัวเรือน รวมทั้งเรียนรู้ทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ท่านอาจารย์บุญล้อม ยืนยันว่า ทฤษฏีบันได 9 เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งหากใครทำตามได้ รับรองว่าไม่มีจนแน่นอน
มาถึงวันนี้ เป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า สิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการมาถือได้ว่าเป็นทางรอดขององค์กร โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติที่คาดไม่ถึงอย่างเช่นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คนทั้งโลกเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าคนไทยเราจะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในท่ามกลางความวิกฤติ เราก็ยังเห็นโอกาสของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีขึ้น สำคัญคือเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของคนในเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาระยะห่าง การมีวินัยที่จะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อมองโดยรวมแล้วก็คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จนกลายเป็นที่ยอมรับและได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลกว่า คนไทยเรามีวินัย มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใส่ใจสุขภาพ จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอารยประเทศ
บรรยากาศการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดย อ.บุญล้อม เต้าแก้วและคณะ