web analytics

บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด

“ธุรกิจคู่คุณธรรม” สร้างองค์กรคนดี ปลอดคอรัปชั่น

กว่าจะมาเป็นไลอ้อนในวันนี้
บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย)จำกัด เดิมมีชื่อว่า บริษัท เดอะ ไลอ้อน แฟทแอนด์ออย (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และบริษัท เดอะ ไลอ้อน แฟทแอนด์ออย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตผงซักฟอกและแชมพูในประเทศไทยทดแทนการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเริ่มดำเนินกิจการในปี พ.ศ. 2512 ปัจจุบันบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคในครัวเรือนมากมาย ทั้งผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ครีมอาบน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ

สมัยเมื่อคุณบุญฤทธิ์เริ่มทำงาน ได้มีโอกาสไปพบกับอดีตท่านประธาน ดร.เทียม โชควัฒนา (ผู้ก่อตั้งบริษัท ไลอ้อน ประเทศไทย) อยู่บ่อยครั้ง ที่ห้องทำงานท่านมีคำขวัญที่เขียนไว้ 4 ข้อ คือ 1)ขยัน อดทน 2)รักษาเครดิต 3)คบคนดี 4)อย่าเอาเปรียบใคร สิ่งเหล่านี้ท่านได้พูดย้ำอยู่เสมอ จนกลายเป็นหลักปฏิบัติของบริษัท สหพัฒน์ฯ และบริษัท ไลอ้อน ด้วยอุดมคติในการยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำงานบนพื้นฐานการคิดดีและทำแต่เรื่องดีๆตลอดเวลา เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ริเริ่มตั้ง “ชมรมธารบุญ” ในบริษัทฯ สมาชิกชมรมฯ ชวนกันทำกิจกรรมในเวลาว่าง หาหนังสือธรรมะมาจำหน่าย ซื้อปลามาปล่อย ทอดกฐิน ทำบุญต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต่อมาบริษัทก็ได้ตั้ง “โครงการคนดี” (Good People Project)มีกิจกรรมความดีต่างๆหลายโครงการ จนกระทั่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้เห็นการล่มสลายของธุรกิจมากมายที่ดำเนินอย่างไม่มีคุณธรรม ประจวบเหมาะเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นวันขึ้นครองราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ทุ่มเท เสียสละเพื่อความสุขของประชาชน จึงถือโอกาสนี้ทำความดีถวายพ่อหลวง ผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมใจกันปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่า เราจะเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี รู้รักสามัคคี มีความซื่อสัตย์ สุจริต จะทำดีเพื่อประโยชน์ตน เพื่อประโยชน์ท่าน เพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของสังคม และประเทศชาติ ได้จัดตั้ง “องค์กรคนดี” (Humanized Organization)อย่างเป็นรูปธรรม
คุณบุญฤทธิ์ ได้เล่าว่า จากการดำเนินกิจการเกือบ 50 ปี ที่ยึดต้นแบบที่ดีของ ดร.เทียม โชควัฒนา มานั้น

ในช่วงแรกๆ ของการทำงาน ไม่ได้คิดจะนำคุณธรรมความดีมาเป็นยุทธศาสตร์ของการทำธุรกิจ แต่ตั้งใจที่จะทำความดีโดยธรรมชาติพื้นฐาน ผมเรียนว่าแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คิดเรื่องนี้ มาจากวิกฤติเกิดฟองสบู่แตก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย)จำกัด มีกำไรที่สะสมมาตลอดการดำเนินงาน 30 ปีในขณะนั้นเกือบสูญหมด เงินกู้จากต่างประเทศก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากวิกฤตินี้ ธุรกิจที่ดูว่าน่าจะดีก็ล่มสลายกันไปหลายบริษัท ก่อนปี 2540 มีธุรกิจที่นักศึกษาอยากจะเรียนคือ วิชาการเงิน การบัญชีธนาคาร ซึ่งปริญญาตรีก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่น วิกฤตครั้รนั้นไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยประเทศเดียว แต่กระทบไปทั้งอาเซียน หลังจากสถานการณ์ผ่านไปแล้ว เรามานั่งคิดว่าเราไม่เคยทำบาป ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องไร้คุณธรรม แล้วเหตุใดจึงได้รับผลกระทบด้วย นำไปสู่การศึกษาค้นหาเหตุปัจจัยการล่มสลายของวิกฤตต่างๆทั่วโลก อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตเศรษฐกิจอาร์เจนติน่า การล้มละลายของเอนรอน วิกฤตซับไพร์มสหรัฐ(วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) วิกฤตเศรษฐกิจกรีซ วิกฤตระบบธนาคารไซปรัส และได้ไปพบงานวิจัยอันหนึ่งของบริษัทวิจัยโตเกียวโชโกะ เขาวิจัยว่าธุรกิจทั้งหมดสองล้านธุรกิจ เขาดูตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งว่าอยู่ได้กี่ปี เมื่อถึง ปีที่ 50 ปีที่ 100 ปีที่ 500 ไล่มาเรื่อยๆ หายไปกี่บริษัท พอถึง 1,000 ปี เหลืออยู่ประมาณ 6-7 บริษัท 1200 ปีเหลืออยู่สองบริษัท 1300 ปีเหลือหนึ่งบริษัท

วันหนึ่งฉุกคิดถึง “พุทธบริษัท” ก็เฉลียวใจว่าองค์กรศาสนาก็เป็นบริษัท บริษัทที่สอนให้คนทำดี ต่างกับองค์กรธุรกิจที่มุ่งการก่อเกิดผลกำไร จึงได้ไปดูศาสนาต่างๆทั่วโลก ทุกศาสนาที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้วไม่มีศาสนาใดล่มสลายเลย ก็เลยมาดูว่าที่ล่มกับไม่ล่ม ที่ล่มอะไรเป็นเหตุ ที่ไม่ล่มอะไรเป็นเหตุ บริษัทที่ล่มสลายคือ ฉ้อโกง แต่งบัญชีเท็จ โลภมาก ให้บัตรเครดิตกับผู้ด้อยเครดิต ฟอกเงิน นี่คือต้นเหตุแห่งการล่มสลาย การไม่ซื่อสัตย์ หรือไร้คุณธรรม หากเรามาศึกษาองค์กรศาสนา ทุกศาสนาสอนเรื่องการเป็นคนดี มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต จึงมาสอดรับกับองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนได้เป็น 500 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ปรัชญาของแต่ละบริษัทจะอยู่ในหลักการของคุณธรรม ดังนั้นการทำธุรกิจก็ต้องยึดคุณธรรมเป็นแก่น และต่อมาได้ศึกษาบริษัท โกดัก และโนเกีย ปรัชญาของทั้ง ๒ บริษัท ซึ่ง ยึดหลัก Good Governance แต่ทำไมล่มสลาย จึงได้คิดว่า การทำธุรกิจนอกเหนือการทำควบคู่กับคุณธรรมแล้ว ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้วยจึงจะยั่งยืน
หมายเหตุ : ข้อมูลจากการบรรยายในเวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ ๙ ห้องย่อยสุจริต

นโยบายสำคัญสำหรับการบริหารและการคุณภาพชีวิตของพนักงาน ในมิติด้านคุณธรรมและธรรมาภิบาล
บริษัท ไลอ้อน ยึดต้นแบบความซื่อสัตย์สุจริตจากอดีตท่านประธาน ได้กำหนดค่านิยมหลักขององค์กรว่า “ธุรกิจคู่คุณธรรม” หนึ่งในนโยบายคือ การเป็นองค์กร “ปลอดคอรัปชั่น” บริษัทได้ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต เป็นบรรทัดฐานในการทำงาน และประกาศต่อสาธารณชนว่าจะร่วมกันสร้างองค์กรคนดี ไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริม ไม่ยินดี ในการกระทำใดๆ อันไม่ซื่อสัตย์สุจริต ร่วมสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุข

กิจกรรมสำคัญที่องค์กรดำเนินการ ในการส่งเสริมความดีของพนักงาน
วิสัยทัศน์ของ ไลอ้อน คือ เป็นบริษัทฯ ที่มีสมรรถนะในการพัฒนาและแข่งขัน เพื่อเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าอุปโภคในภูมิภาคเอเชียอย่างมีคุณธรรม มีแก่นอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญคือ ธุรกิจคู่คุณธรรม ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในบริษัท ให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อพนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งบนฐานคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ความกระตือรือร้น การศึกษาพัฒนาตน การเสียสละ การตรงต่อเวลา การทำงานร่วมกัน การรักษาคำมั่นสัญญา การรักษาระเบียบวินัย ทักษะในการสื่อสาร การตัดสินใจ การลงมือปฏิบัติ การท้าทาย ในการบริหารองค์กรคนดีเพื่อให้เป็นไปอย่างสอดรับกับการบริหารงาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งดูแล 4 กลุ่มกิจกรรม มีหัวหน้ากลุ่มเป็นพนักงานที่มีจิตอาสา
กลุ่มที่หนึ่ง คือกลุ่มคุณธรรม จริยธรรม ทำกิจกรรม อาทิ ตักบาตรทุกวันจันทร์ (สำนักงาน กทม.) และทุกวันศุกร์ (โรงงานที่ศรีราชา) โดยบริษัทจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาบิณฑบาตที่สำนักงาน มีห้องสวดมนต์สำหรับพนักงาน รวมถึงช่วงบ่าย 2 ของทุกวัน จะเป็นช่วงพักใจ 5 นาที ปิดไฟให้พนักงานนั่งทำสมาธินิ่งๆที่โต๊ะทำงาน และก่อนประชุมก็จะมีการทำสมาธิร่วมกันอีกด้วย และสนับสนุนให้พนักงานไปปฏิบัติธรรม อุปสมบท โดยไม่นับเป็นวันลาอีกด้วย
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มพระโพธิสัตว์ ปลูกฝังคุณธรรมในการเป็นผู้ให้ ได้แรงบันดาลใจมาจากมูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน ทำกิจกรรมจิตอาสาโครงการขยะทองคำ มีการจัดตั้งกองทุนพระโพธิสัตว์ ระดมทุนจากการเปิดท้ายขายของ คัดแยกขยะ และนำเงินที่ได้ไว้ช่วยเหลือเพื่อนพนักงานที่เจ็บป่วย/จำเป็น ทีมช่างเทคนิครวมตัวกันขี่จักรยานออกกำลังกายและในขณะเดียวกันก็ผ่านช่วยเหลือซ่อมแซมอุปกรณ์ให้กับวัดโรงเรียนใกล้เคียงอีกด้วย
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มแปดแฮปปี้(Happy 8) จากแนวคิดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างกิจกรรมเสริมสร้างความสุขกาย สุขใจ และจิตวิญญาณ ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) เพื่อลด 3 ส (คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง) ทำโครงการส่งเสริมให้พนักงานบริโภคข้าวอินทรีย์ ผักปลอดสารพิษ และสร้างศูนย์กีฬาสำหรับพนักงานและครอบครัว นอกจากนี้บริษัทได้เปิดห้องอภิบาลเด็กเล็ก รับดูแลบุตรของพนักงานก่อนวัยเรียนระหว่างวันทำงานช่วยลดภาระของผู้ปกครองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มชุมชนคนดี สานสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่อยู่รายรอบ ด้วยบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับยาสีฟัน แปรงสีฟัน จึงทำโครงการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้เด็กนักเรียนและผู้สูงวัย มีทั้งการสอนแปรงฟันอย่างถูกวิธีและการบริหารช่องปากเพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม นอกจากนี้มีโครงการส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ โดยเปลี่ยนสนามหญ้าของออฟฟิศเป็นแปลงผัก พัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของชุมชน จำหน่ายผักให้พนักงาน ร้านอาหารในบริษัท และชุมชน ในราคาถูก และประสานความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาของรัฐ ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาส ผลิตนักศึกษาอาชีวะให้เป็นเลิศด้านวิชาชีพและวิชาชีวิต และมีโครงการร่วมกับชุมชนอื่นๆอีกมากมาย

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
เมื่อบริษัทได้ดำเนินองค์กรคนดี ตั้งมั่นบนฐานคุณธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารยึดหลักคุณธรรมเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ พนักงานได้ร่วมกันทำกิจกรรรมความดีต่างๆ เกิดความสุขกาย เบิกบานใจ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของทำงานให้เพิ่มขึ้น อานิสงส์จากสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ อัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าGDPของประเทศ สามารถเสริมความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อนำความดีสู่สังคม และสร้างสุขภาวะที่ดีต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมสืบต่อไป

บทเรียนที่ได้/ข้อคิดที่อยากฝาก
จะเห็น ได้ว่า การทำดีนั้นไม่ต้องไปอวดดีกับใคร การทำดีสิ่งสำคัญคือต้องเป็นดีแท้ ไม่ใช่ดีเทียม ดีแท้คือดี ดีเทียมคือดีเพื่อหวังผลประโยชน์ ฉะนั้น การทำดีโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร คนทำดีจิตใจจะเบิกบาน ใจเป็นสุข มีศรัทธาต่องานที่ทำ ดีกว่าการสั่งให้ทำงานมากๆเพื่อผลงานเยอะๆ อานิสงส์ของความดี มันส่งผลจริงๆ คนที่ทำงานในองค์กรคนดีเขาจะตั้งใจทำงานและทำงานอย่างทุ่มเท ทำงานด้วยศรัทธา ผลงานของคนเหล่านี้จะเป็นผลงานที่เป็นเลิศ ฉะนั้นการทำความดีแท้ไม่ต้องกลัว คนดีจะเป็นผู้กล้าหาญแน่นอน ที่สำคัญคือ ความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูงที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เลือกทำกิจกรรมตามความชอบ สร้างบรรยากาศการทำกิจกรรมดีๆ บนฐานคุณธรรม สร้างต้นแบบที่ดี “ยกย่องคนดี ส่งเสริมคนเก่ง” ประกาศเป็นบุคคลตัวอย่างด้านต่างๆ เพื่อให้พนักงานอยากเป็นคนดี และร่วมกันทำความดี เชื่อมั่นใรการทำความดี จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน สมดังปัจฉิมโอวาทของพุทธองค์ว่า “จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท” หากทำดีเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน อย่างมีสติรอบคอบด้วยความตั้งใจ ผลการทำความดีก็จะย้อนกลับมาสู่ผู้ปฏิบัติในที่สุด มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ “Win-Win” ไปด้วยกัน

Copyright © 2019. All rights reserved.