“สุขจากการให้ ใจใฝ่อาสา คือการพัฒนาสู่ความยั่งยืน”
เส้นทางกว่าจะเป็น “ไออาร์พีซี”
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทีพีไอ” ผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อจำหน่ายตั้งแต่ ปี 2525 และได้ขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นรวมทั้งขยายโรงงาน และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ต่อมาบริษัทฯ ประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน หลังจากการลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 บริษัทฯ จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2543 และประสบความสำเร็จ ในการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2549 ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทไออาร์พีซี และบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบการปิโตรเคมีอย่างครบวงจรเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยองซึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทฯ พร้อมสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการดำเนินอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร เช่น มีท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า เป็นต้น
แนวทางนโยบายในการบริหารองค์กร
สำหรับการบริหารของบริษัท พัฒนาขึ้นตามหลักการ Plan-Do-Check-Act เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมาตรฐานการจัดการสากล ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
- นโยบายและความเป็นผู้นำ (Policy & Leadership) การกำหนด การสื่อสาร และการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารอย่างชัดเจนในการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรในการบริหารงานด้านQSSHE ตลอดจนกล่าวถึงการทบทวนประสิทธิผลการดำเนินงานด้าน QSSHE
- การวางแผน (Planning) การประเมินความเสี่ยง การเข้าถึงกฎหมาย รวมถึงการตรวจประเมินด้านQSSHE สำหรับการควบรวมและเข้าถือครองสินทรัพย์และโครงการใหม่ ตลอดจนการจัดการที่เกี่ยวข้องกับวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
- วิศวกรรม การดำเนินงาน และการบำรุงรักษา (Engineering, Operations and Maintenance) การบริหารความเสี่ยงด้านQSSHE ในช่วงการออกแบบ การก่อสร้าง การทดสอบ การปฏิบัติงานทั้งที่ดำเนินงานโดยหน่วยงาน หรือ ผู้รับเหมาและผู้รับจ้าง การบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างเหมาะสม รวมถึงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองในกรณีฉุกเฉิน เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงด้านการระบายมลภาวะออกจากพื้นที่ การระบายน้ำเสีย และการจัดการของเสีย เป็นต้น
- การติดตามและปรับปรุงประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Monitoring and Improvement)การตรวจสอบและตรวจประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน และการแก้ไขและป้องกัน เพื่อจัดการสภาพที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ตลอดจนการนำการเรียนรู้ที่ผ่านมาและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศไปขยายผลต่อไปรวมถึงการกำหนดเป้าหมายและแผนงานการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- ทรัพยากรและโครงสร้างการบริหาร (Resources and Organization)การกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ตลอดจนความสามารถของผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- วัฒนธรรม การสื่อสาร และข้อมูล (Culture, Communications and Information) การสร้างการมีส่วนร่วม พฤติกรรม และวัฒนธรรมด้านSSHE อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่สนใจ ตลอดจนการจัดการและควบคุมเอกสาร
เส้นทางความดีมีกระบวนการอย่างไร
ตามกรอบการดำเนินงานดังกล่าว บริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมตามกระบวนการ Happy 8 Menu พร้อมกับสื่อสารการทำงานผ่าน HE News เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้พนักงานในองค์กรได้รับทราบและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร โดยมีการออกแบบกิจกรรมสร้างสุขครอบคลุมทั้ง 8 ประการ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามแนวทางคุณธรรมพื้นฐานแล้ว พบว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมีความสอดคล้องกับหลักการส่งเสริมเสริมคุณธรรมพื้นฐาน ทั้งด้าน พอเพียง วินัย สุจิต จิตอาสา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมคุณธรรมด้านจิตาอาสาค่อนข้างชัดเจนมาก อย่างเช่น กิจกรรมเยี่ยมไข้พนักงาน กิจกรรมบริจาคโลหิต/คลังโลหิต IRPC กิจกรรมจิตอาสาปลูกป่าชายเลน โครงการพัฒนาจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน การมอบทุนการศึกษาให้กับลูกหลานของพนักงานและชุมชนรอบบริษัท รวมทั้งการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชน เป็นสถานที่ให้คนในชุมชนหรือผู้ที่สนใจมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่คิดค่าบริการ อีกทั้งเป็นสถานที่รับรองสำหรับลูกค้าหรือบุคคลสำคัญของบริษัท นอกจากนี้ได้จัดตั้งเครือข่ายความรู้ด้านโรคเอดส์และวัณโรคเพื่อชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางให้พนักงานได้ช่วยเหลืออื่นที่ยากไร้ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส และเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทและชุมชน
นอกจากการการส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐานแล้วองค์กรแห่งนี้ยังเรื่องการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจพนักงานให้มีความอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสังคมรอบข้าง โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมทำวันในวันสำคัญทางศาสนา การจัดทอดกฐิน ทอดผ้าป่าให้วัดในพื้นที่และวัดที่ขาดแคลนในพื้นที่ต่าง ๆ การเข้าค่ายธรรมะ ส่งพนักงานไปปฏิบัติธรรม ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจพนักงานให้มีจิตสำนึกที่ดีและให้ความสำคัญกับการทำความดี รวมทั้งเพื่อสร้างคุณค่าด้านจิตใจและเชิดชูคุณค่าด้านศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของสังคม
ผลลัพธ์การดำเนินงาน
ผลจากการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยผ่านการทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สะท้อนกลับมาสู่องค์กรหลายด้านด้วยกัน ดังนี้
ประการแรกเรื่องความรักและความผูกพันต่อองค์กร ความร่วมมือร่วมใจ การคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมีมากขึ้น
ประการที่สอง พนักงานยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรกันมากขึ้น มีความสามัคคี ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งในองค์กร
ประการที่สามพนักงานมีจิตอาสามากขึ้น มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเวลาเพื่อนได้รับความเดือดร้อน และยังรวมตัวกันเป็นกลุ่ม/ชมรมเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมร่วมกัน โดยการสนับสนุนจากบริษัท นอกจากจะทำให้พนักงานในองค์กรมีความสุขที่เป็นส่วนบุคคล คือ การมีจิตสำนึกดี มีมโนธรรม คุณธรรมและเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งเป็นความสุขจากภายในตัวบุคคล ทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพนักงาน มีการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง และจากการช่วยเหลือกันภายในองค์กรแล้วยังเผื่อแผ่ไปถึงสังคม ด้วยการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยเหลืองานชุมชนรอบข้าง รู้จักแบ่งปันมีจิตสาธารณะ
นอกเหนือจากผลลัพธ์ด้านคุณภาพแล้ว ในส่วนด้านปริมาณก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ Turn over ของพนักงานที่มีในอัตราต่ำ ซึ่งมีผลดีต่อองค์กรในการรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เริ่มจากการมีคุณธรรมความดีประจำใจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพัฒนาบุคลากรให้สุขจากภายในจากคนหนึ่งคน สามารถต่อยอดไปสู่คนหมู่มากจนกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้
บทเรียนการดำเนินงาน
จะเห็นได้ว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเสริมให้พนักงานทำกิจกรรมมากมาย เน้นในเรื่องของการแบ่งปัน การให้คืนแก่สังคม หรือ จิตอาสา โดยดำเนินการผ่านสมาคม หรือชมรมต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพนักงานของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดียิ่งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นทางด้านกายภาพ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาจิตใจของคนในองค์กรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตใจ เพราะมีความเชื่อมั่นว่าจิตที่ฝึกดีแล้วมีความเข้มแข็งจะมีพลังทำให้บุคคลนั้นสามารถจัดการชีวิตได้ดี เนื่องจากจิตใจที่ขาดความเข้มแข็ง ขาดพลังแห่งความมุ่งมั่น ขาดกำลังใจ จะไม่สามารถนำพาชีวิตไปให้ก้าวไกลได้ การพัฒนาจิตโดยใช้หลักธรรมะ ผ่านการฝึกสมาธิ จะช่วยให้จิตใจมีสติ มีความสงบมั่นคง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตน พัฒนางานเป็นอย่างมากและส่งผลต่อการพัฒนาสังคมต่อไป