เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 โครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะภาคเอกชนเพื่อการขับเคลื่อนสู่องค์กรคุณธรรม ดำเนินการโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิหัวใจอาสา จัดงาน นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมองค์กรภาคเอกชน “Moral Business Forum 2019” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ให้เกียรติมาเป็นประธาน เปิดงาน ณ ห้องชฎาแกรนด์บอลรูม โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 160 คน จาก 80 องค์กร รวมทั้งมีองค์กรที่ได้มาร่วมจัดบูธนิทรรศการ จำนวน 9 องค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Happy Workplace Center แผ่นดินไพร บริษัท เจ เอช อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกตัญญู
กิจกรรมภายในงาน เริ่มด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “องค์กรธุรกิจคุณธรรม นำไทยสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรร (องค์การมหาชน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยศูนย์คุณธรรมเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการส่งเสริมคุณธรรมของสังคม ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมในภาคเอกชน โดยน้อมนำหลักคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ พอเพียง (การบริหการจัดการที่ดี) วินัย (รับผิดชอบในหน้าที่ ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบทางสังคม) สุจริต (ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคม และองค์กร) จิตอาสา (มีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปันผู้อื่น) เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานในองค์กร รวมถึงมีส่วนร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อม และสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะให้สามารถนำองค์ความรู้ กระบวนการทำงานของแต่ละองค์กรไปปรับใช้พัฒนาองค์กรธุรกิจของตนเองได้เป็นอย่างดี
จากนั้น ได้มีการมอบโล่ และประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ร่วมกิจกรรมประกวดนวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร โดยมีเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ความน่าสนใจของชื่อโครงการ/กิจกรรม ความสอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน /เป็นประโยชน์แก่พนักงาน วัตถุประสงค์ของโครงการ/กิจกรรมมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายหรือวัฒนธรรมองค์กร มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคุณธรรมพื้นฐาน ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสาและความรับผิดชอบ มีกลยุทธ์ มีแผนงาน มีกระบวนการดำเนินงานอย่างอย่างครบถ้วนชัดเจน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มีระบบการวัดผลหรือประเมินผลอย่างชัดเจน มีหลักฐานประกอบที่สื่อให้เห็นกระบวนการทำกิจกรรม เช่น ภาพถ่าย Clip VDO มีความคิดสร้างสรรค์ และสุดท้ายคือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร จากการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิพบว่ามีผู้ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 11 องค์กร โดยแบ่งเป็นรางวัลนวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรดีเด่น จำนวน 4 องค์กร ได้แก่
1. โครงการรักกระเป๋าเป้า 200 และออมสานฝัน จากบริษัท เจ เอช อุตสาหกรรม จำกัด
2. โครงการDNA THAI COCONUT จาก บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน)
3. โครงการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยหลักเศรษฐพอเพียง จาก บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน)
4. โครงการสุขแบบครอบครัวใหญ่ และมีหัวใจเดียวกัน จาก บริษัท ริกิการ์เม้นส์ จำกัด
นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่ได้รับรางวัลชมเชยในการส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร จำนวน 7 องค์กร
1. โครงการโรงเรียนโพธิปัญญา จาก มูลนิธิสยามกตัญญู
2. โครงการ STRONG MILLCON ปี4 : พนักงานมีวินัยด้านสุขภาพ คุณภาพพนักงานเลิศ จาก บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)
3. โครงการกองทุนรีไซเคิล (Recycle Funds) จาก บริษัท ไทยสปอร์ตการ์เม้นส์ จำกัด
4. โครงการชั่วโมงความดี จาก บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
5. โครงการส่งเสริมอนามัย เพิ่มวินัยพนักงาน ประสานจิตอาสาด้วยSTARSTEMS จากบริษัท จินเทค(ประเทศไทย)จำกัด
6. โครงการธนาคารความดี จาก บริษัท โตโยต้านนทบุรี
7. โครงการเศรษฐีใหม่ ใครๆก็เป็นได้ จาก บริษัท ดวงสิริ นีโอ คอสเมติกส์ จำกัด
หลังจากได้ยกย่องเชิดชูองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนคุณธรรมผ่านกิจกรรมหรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมแล้ว ทางโครงการก็ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรภาคเอกชนในการขับเคลื่อนคุณธรรมระดับองค์กร ซึ่งมีองค์กรที่เข้าร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้จำนวน 17 องค์กร เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนคุณธรรมในองค์กร
ช่วงบ่าย ได้รับเกียรติจากนางสาวชัชณารัช จันทนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร บรรยายพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมองค์กรสุขภาวะสู่องค์กรธุรกิจคุณธรรม” จากผลสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า จำนวนประชากรวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.5 ล้านคน มีงานทำ 37.3 ล้านคน ผลการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะวัยแรงงาน พบว่า คนในสังคมให้ความสำคัญยึดถือและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาน้อย มีความเครียดสูง จากอาการเจ็บป่วยของตนเอง หนี้สิน และจากการทำงาน ซึ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมความเป็นปัจเจกสูง เคารพและปฏิบัติตามกติกาสังคมน้อย โดยเฉพาะ Gen Y สสส. จึงให้ความสำคัญกับคนวัยทำงานในองค์กร ในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพพัฒนาเครื่องมือที่ต่อยอดองค์ความรู้ อาทิ ความสุข 8 ประการ (Happy 8) คู่มือวัดความสุข (Happinometer)
ในช่วงท้ายของกิจกรรม มีการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ ถอดรหัสการส่งเสริมคุณธรรมในภาคธุรกิจ มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.อัสนียา สุวรรณศิริกุล จากบริษัท สมบูรณ์ กรุ๊ป คุณไพโรจน์ มีทวี ผู้อำนวยการสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย คุณจรูญ ศิริสรณ์ บริษัท ริกิการ์เม้นส์ จำกัด คุณวรรณา ธรรมร่มดี บริษัท ไลอ้อน(ประเทศไทย)จำกัด วิทยากรจากทั้ง 4 องค์กรจัดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนคุณธรรมในองค์กรเป็นอย่างดี รวมทั้งได้เปิดบ้านให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานแก่องค์กรอื่น ๆ ที่สนใจ
ก่อนจบกิจกรรมบนเวที ทางโครงการฯ ได้เชิญ ผศ.ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มาแนะนำเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและความสุขคนทำงาน (Happy Moral Index:MOI) เครื่องมือชุดนี้ สามารถใช้ได้ทั้งผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงานทุกระดับในองค์กร เป็นเครื่องมือยกระดับองค์กรสุขภาวะ เป็นองค์กรคุณธรรม ส่งเสริมการพัฒนาพนักงงานให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดำเนินชีวิตด้วยความสมดุล ทั้งครอบครัว หน้าที่การงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการมีภาพลักษณ์ดีขึ้น พนักงานมีความสุข และเติบโตก้าวหน้า พร้อมกับเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม นำไทยสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป